ดังนั้นนักบุญยอห์นชาวดามัสคัส ผู้แปลความหมายของธรรมประเพณี ที่สืบต่อกันมานี้ได้อย่างวิเศษ
ได้ให้ข้อเปรียบเทียบอันลึกซึ้ง ระหว่างสิทธิพิเศษอันยิ่งใหญ่ประการอื่นๆ
ของพระชนนีพระเป็นเจ้ากับการได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งพระกายของพระนาง
"เป็นการเหมาะสมแล้วที่พระนางผู้ให้กำเนิดแก่พระบุตร
โดยยังเป็นพรหมจารีอยู่จะรักษาพระกายมิให้เน่าเปื่อยหลังจากสิ้นพระชนม์
เป็นการเหมาะสมแล้วที่พระนางผู้ทรงอุ้มพระผู้เนรมิตเมื่อยังเยาว์ไว้แนบพระอุระ
จะได้มีที่พักอาศัยอยู่กับพระเป็นเจ้า เป็นการเหมาะสมแล้วที่เจ้าสาวที่พระบิดาทรงเลือกจะได้อยู่ในสวรรค์
เป็นการเหมาะสมแล้วที่พระนางผู้ซึ่งทอดพระเนตรพระบุตรบนไม้กางเขน มีความรู้สึกเหมือนดวงพระทัยถูกแทงด้วยดาบแห่งความเศร้า
ซึ่งไม่มีในพระทัยของพระนางเมื่อพระนางประสูติพระบุตร จะได้เห็นพระองค์ประทับอยู่กับพระบิดา
เป็นการเหมาะสมแล้วที่พระชนนีพระเป็นเจ้าจะได้รับความชื่นชมโสมนัสกับสิทธิพิเศษของพระบุตร
และได้รับการสรรเสริญจากสิ่งที่ถูกเนรมิตขึ้นมา ในฐานะที่เป็นพระชนนีและผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้า"
นักบุญเยอร์มานุสแห่งคอนสแตนติโนเปิล มีความเห็นว่า
การโยกย้ายพระกายอันไม่เน่าเปื่อยของพระนางนั้น เหมาะสมไม่เฉพาะกับความเป็นพระชนนีพระเป็นเจ้าเท่านั้น
แต่เป็นความศักดิ์สิทธิ์ ที่มากับฐานะพรหมจรรย์ของพระนางด้วย ท่านกล่าวไว้ว่า
"พระนางทรงปรากฏให้เห็นว่างามพร้อมดังที่เขียนไว้
และพระกายที่เป็นพรหมจรรย์ก็ศักดิ์สิทธิ์ และบริสุทธิ์ เป็นที่พำนักของพระเป็นเจ้า
ดังนั้นพระกายนี้ไม่มีวันได้กลับไปเป็นผงธุลี แต่ได้รับการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุ่งโรจน์ไม่ดับสูญ
และพระกายเดียวกันนี้ยังดำรงอยู่อย่างประเสริฐปราศจากภัยพิบัติ และเสวยสุขแห่งชีวิตนิรันดร์"
นักเขียนสมัยโบราณ อีกท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า
"เนื่องจาก พระนางทรงเป็นพระชนนีผู้ประเสริฐยิ่งของพระคริสตเจ้า พระผู้ช่วยให้รอด
พระเป็นเจ้าของเราผู้ประทานทั้งชีวิตและความอมตะ พระนางจึงได้รับการชุบชีวิตโดยพระองค์
และพระกายของพระนางก็ไม่มีการเน่าเปื่อย เหมือนของพระองค์ผู้ทรงชุบชีวิตของพระนางขึ้นมาจากพระคูหา
และรับขึ้นไปอยู่กับพระอค์โดยวิธีการ ซึ่งพระองค์ผู้เทียวเท่านั้นที่ทรงทราบ"
ท้ายที่สุดบรรดาปิตาจารย์ทั้งหลาย ได้หันเข้าหาพระคัมภีร์เพื่อสรุปให้เราเห็นภาพพจน์ของพระชนนีของพระบุตรว่า
ไม่สามารถแยกจากพระบุตรได้ และมีส่วนร่วมในทุกสิ่งกับพระองค์อย่างสม่ำเสมอ
เราควรจำไว้ด้วยว่า ตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 เป็นต้นมา
บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรได้ชี้ให้เห็นว่า พระนางมารีย์เปรียบเสมือนเอวาที่สอง
ซึ่งมิได้อยู่ในระดับเดียวกับอาดัมที่สอง แต่ว่ามีส่วนร่วมในการสู้รบกับศัตรูของมนุษยชาติ
ผลที่ปรากฏดังที่เราทราบได้จากพันธสัญญาที่ทรงให้ไว้ในสวนสวรรค์ คือชัยชนะเหนือบาปและความตายอย่างสมบูรณ์
ทั้งสองสิ่งนี้ เป็นศัตรูของเรา ซึ่งนักบุญเปาโล มักอ้างถึงการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระบุตร
เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้มาซึ่งชัยชนะและรางวัลที่สูงสุด และพระนางมารีย์ผู้มีส่วนร่วมในการสู้รบ
ก็ต้องมีส่วนร่วมในผลสุดท้ายด้วย โดยการที่พระกายซึ่งเป็นพรหมจรรย์ของพระนาง
ได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่นั้น ท่านอัครสาวกกล่าวไว้ว่า "เมื่อธรรมชาติที่จะต้องตาย
สวมใส่ความอมตะแล้ว ก็จะเป็นจริงตามคำที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า ความตายจะถูกกลืนโดยชัยชนะ"
พระชนนีผู้ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าผู้ทรงเป็นหนึ่งเดียว
กับพระเยซูคริสตเจ้าจากนิรันดรกาล โดยพระมหากรุณาธิคุณเดียวกัน ของพระเป็นเจ้าในการปฏิสนธินิรมล
การเป็นพระชนนีพระเป็นเจ้า และพรหมจารีผู้บริสุทธิ์ยิ่ง การมีส่วนร่วมอันประเสริฐกับพระผู้ไถ่
ในการเอาชนะบาป และผลที่ตามมารางวัลอะไรหนอที่คอยพระนางอยู่ในที่สุด? มงกุฎแห่งพระหรรษทานทั้งปวงของพระนาง
คือ พระกายของพระนางได้รับการยกเว้นจากการเน่าเปื่อย เมื่อพระนางมีส่วนร่วมในชัยชนะต่อความตายกับพระคริสตเจ้า
และได้ถูกยกขึ้นไปบนสวรรค์ทั้งพระกาย และพระวิญญาณแล้ว พระนางทรงดำรงตำแหน่งพระราชินีผู้ประทับอยู่เบื้องขวาของพระราชา
ผู้เป็นอมตะ และครองราชย์ตลอดกาล....
(จาก อุดมสาร หนังสือพิมพ์ข่าวสารคาทอลิกรายสัปดาห์)