ว.ประทีป รวมรวม

 

มื่อฤดูร้อนที่ผ่านมามีหนังสือออกใหม่มาเล่มหนึ่ง ความหนาประมาณ 100 หน้า พูดถึงแนวความคิดของพระศาสนจักรเกี่ยวกับโลกาภิวัฒน์ หนังสือเล่มนี้เขียนโดยพระสังฆราชเกียมเปาโล เกนปัลดี เลขาธิการสมณสภา เพื่อยุติธรรมและสันติ ท่านได้รวบรวมความคิดเห็นต่างๆ ของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 และสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 รวมถึงเอกสารอื่นๆ ของพระศาสนจักร ที่พูดถึงประเด็นที่ค่อนข้างจะมีความสลับซับซ้อนนี้

หนังสือดังกล่าวพิมพ์เป็นภาษาอิตาเลียนชื่อว่า "Globalizzazione: Una prospettiva cristiana" (โลกาภิวัฒน์: ในมุมมองของคริสตชน) หนังสือเกริ่นด้วยการกล่าวว่า จนกระทั่งบัดนี้พระศาสนจักรไม่ได้มีหนังสือใดเลยที่พูดถึงโลกาภิวัฒน์อย่างเป็นระบบ แต่ก็มีพระดำรัสของพระสันตะปาปา และเอกสารมากมายที่พูดถึงประเด็นนี้

การที่พระศาสนจักรไม่มีเอกสารเฉพาะไม่ได้หมายความว่าพระศาสนจักรละเลยปัญหาโลกาภิวัฒน์ ในอดีต พระสมณสาส์นว่าด้วยสังคมพูดถึงหลักการสังคมสากลเกี่ยวกับธุรกรรมเศรษฐกิจ ต่อมาภายหลังที่พูดค่อนข้างขัดเจนเรื่องโลกาภิวัฒน์คือพระสมณสาส์น "เรื่องการเฉลิมฉลองปีที่หนึ่งร้อย" (Centesimus Annus) ของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ซึ่งประกาศออกมาในปี ค.ศ.1991

โลกาภิวัฒน์มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเรา แต่ในขณะเดียวกันพลังขับเคลื่อนของมันก็ยากที่จะเข้าใจเช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของบรรดาประเทศ และภูมิภาคต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากโลกาภิวัฒน์ หรือว่า เป็นเพราะประเทศที่ยากจนเหล่านั้น ยังไปไม่ถึงโลกแห่งโลกาภิวัฒน์กันแน่?

ความที่เข้าใจโลกาภิวัฒน์ยาก ก็อาจเป็นเพราะว่าเรามัวแต่มาสะดุดอยู่กับกระบวนการพัฒนาที่ยังไปไม่ถึงเป้าหมายสักที แล้วผลของการพัฒนาดังกล่าว ก็ยังไม่มีความชัดเจน แต่ผลร้ายหนักๆ ที่เห็นชัดเจนก็คือ เรายังไม่สามารถควบคุมกระบวนการโลกาภิวัฒน์ เนื่องจากรัฐขาดวิสัยทัศน์ด้านจริยธรรมที่จะต้องเป็นปัจจัยในการควบคุมกระบวนการ

เป็นมิติจริยธรรมนี่เองที่พระศาสนจักรต้องการที่จะเสนอให้เป็นทางออกสำหรับสังคม สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ตรัสว่า โลกาภิวัฒน์ในตัวของมันเองไม่ใช่ว่าจะดีหรือไม่ดี แต่ผลกระทบที่จะตามมา นั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเราเอง เพราะฉะนั้น การควบคุมโลกาภิวัฒน์เรียกร้องให้เราต้องใช้ปัญญาที่เฉลียวฉลาดรอบคอบ ไม่ใช่ดูแต่เพียงดรรชนีว่าเราได้พัฒนาก้าวหน้าไปแล้วมากน้อยแค่ไหน

ฐานจริยธรรมที่จะเป็นตัวควบคุมโลกาภิวัฒน์ต้องมาจากธรรมชาติสากลของมนุษย์ จะต้องตระหนักถึงรากฐานแห่งความเป็นมนุษย์ให้ได้ เพื่อทีจะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในการมองข้ามหรือลดคุณค่าที่สำคัญต่างๆ ในการเผชิญกับโลกาภิวัฒน์นี้ พระศาสนจักรเตือนโลกให้ใส่ใจถึงความเป็นโลกาภิวัฒน์แห่งธรรมชาติมนุษย์ที่เรียกร้องให้ทุกคน มีความเอื้ออาทรต่อกันและกัน

ความผิดพลาด 3 ประการ

ในการวิจัยโลกาภิวัฒน์ จะพบว่าเกิดมีความผิดพลาดอยู่ 3 ประการด้วยกัน หนึ่งคือ เศรษฐกิจนิยม มองว่าโลกาภิวัฒน์เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจล้วนๆ ไม่มีอย่างอื่นมาเจือปน เราจะรู้สึกได้ว่าโลกาภิวัฒน์ได้เปลี่ยนสิ่งต่างๆ มากมาย ซึ่งเราไม่สามารถที่จะไปควบคุมหรือหยุดยั้งมันได้ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่องค์กรสากลและชาติที่พัฒนาไปไกล แล้วจะต้องไม่ไปบีบบังคับให้ประเทศด้อยพัฒนาเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ โดยไม่คำนึงถึงความต้องการและปัญหาของท้องถิ่น

พระศาสนจักรเรียกร้องให้เคารพวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น และต้องไม่เอาระบบโลกาภิวัฒน์ไปบังคับใช้กับประเทศเหล่านั้น โดยยึดเอาฐานเศรษฐกิจเป็นตัวตั้งเท่านั้น ตัวมนุษย์เองจะต้องเป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนา สิ่งนี้เรียกร้องให้มีความเคารพต่อเสรีภาพมนุษย์ และจะไม่ทำมนุษย์ให้ต้องตกต่ำไปเป็นเพียงเครื่องมือของเศรษฐกิจเท่านั้น

หากเป็นเช่นนี้ โลกาภิวัฒน์ก็จะไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นกระบวนการที่มนุษย์เป็นผู้นำกระบวนการเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีอาจทำให้มนุษย์เข้าใกล้กันมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น และหากสองสิ่งดังกล่าวถือว่าเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด จะเป็นการเสี่ยงที่สุดที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกมากกว่าที่จะทำให้มนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกัน

ความผิดพลาดประการที่สองคือ มองทุกสิ่งไปในแง่ร้าย โดยปัญหาทุกอย่างและการเปลี่ยนแปลงทุกชนิดไปให้โลกภิวัฒน์ โดยไม่ได้มีการไตร่ตรองกันอย่างรอบคอบถึงแต่ละสภาวะการณ์ ไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้ว่า โลกาภิวัฒน์มีผลกระทบต่อหลายๆ มิติแห่งชีวิตของเรา แต่จะเป็นความคิดที่ผิด หากจะไปกล่าวโทษความเลวร้ายทุกอย่างในโลกว่าเป็นผลของโลกาภิวัฒน์

หลายประเทศได้รับอานิสงฆ์จากโลกาภิวัฒน์ และก็ไม่เป็นความจริงเสมอไปว่าความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศหนึ่ง เป็นผลจากการที่ทำให้อีกประเทศหนึ่งยากจนลง ปัญหาของประเทศด้อยพัฒนานั้นเกิดจากปัจจัยสลับซับซ้อนแบบลูกโซ่มากมาย ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านั้นไม่ใช่เป็นปัญหาเศรษฐกิจแต่เพียงด้านเดียว

ความผิดพลาดประการที่สาม คือการที่คิดว่าจนถึงทุกวันนี้ทุกประเทศ และทุกสิ่งเป็นโลกาภิวัฒน์กันหมดแล้ว ซึ่งอันที่จริงแล้ว ยังมีเศรษฐกิจอีกหลายภาค หลายส่วนที่ยังไม่ได้เข้ามาอยู่ในกระบวนการของโลกาภิวัฒน์นอกนั้นแล้ว ควบคู่ไปกับกระบวนการโลกาภิวัฒน์ยังมีความเป็นตัวของตัวเองในระดับท้องถิ่น และในระดับภูมิภาคที่กำลังได้รับการหล่อหลอมให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นด้วย

วัฒนธรรมใหม่

เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดสามประการดังกล่าว หรือความผิดพลาดอื่นๆ โลกาภิวัฒน์ต้องการวัฒนธรรมใหม่ที่จะสามารถไปควบคุมการเปลี่ยนแปลงต่างๆ สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ทรงอธิบายเกี่ยวกับ "วัฒนธรรมใหม่" นี้ว่าเป็นการแยกแยะองค์ประกอบวัฒนธรรมดีงามที่มีอยู่แล้ว และเป็นการเสนอองค์ประกอบวัฒนธรรมใหม่เข้ามาเสริม

การแยกแยะวัฒนธรรมนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงการยอมรับวิสัยทัศน์แห่งโลกาภิวัฒน์ที่เห็นตัวเองว่า เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสมัยใหม่ ที่ถือว่าเสรีภาพนั้นมีคุณค่าสูงสุด และไม่ยอมรับคุณค่าแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนา พระศาสนจักรจึงได้เสนอวัฒนธรรมที่ตั้งพื้นฐานอยู่บนมิติแห่งความเป็นมนุษย์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะต้องสร้างมนุษยชาติใหม่ขึ้นมา

พระศาสนจักรยังได้เสนอแนวความคิดเรื่อง อำนาจด้านคุณธรรม จริยธรรม ในการจัดการกับกระบวนการโลกาภิวัฒน์ด้วย การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในโลกได้จุดประเด็นเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้า และทรัพย์สมบัติของโลกซึ่งต้องมีการจัดระเบียบให้มีการเรียงลำดับ

การแยกแยะวัฒนธรรมนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงการยอมรับวิสัยทัศน์ แห่งโลกาภิวัฒน์ที่เห็นตัวเองว่า เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสมัยใหม่ ที่ถือว่าเสรีภาพนั้นมีคุณค่าสูงสุด และไม่ยอมรับคุณค่าแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนา พระศาสนจักรจึงได้เสนอวัฒนธรรมที่ตั้งพื้นฐานอยู่บนมิติแห่งความเป็นมนุษย์โดยมีวัตถุประสงค์ ที่จะต้องสร้างความสำคัญตามคุณค่าของมัน ประเด็นนี้เรียกร้องให้ต้องมีความเข้าใจถึงศักดิ์ศรีและสิทธิของมนุษย์ ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลย หากเราให้การยอมรับระบบที่ไม่ให้ความสนใจกับเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม

หลักแห่งศีลธรรมสากลเกิดจากธรรมชาติของมนุษย์เราเอง การแยกแยะหลักศีลธรรมเหล่านี้ไม่ใช่ของง่าย แต่หากโลกาภิวัฒน์ไม่ได้ถูกควบคุมโดยหลักศีลธรรมดังกล่าว ผลร้ายที่จะตามมาก็คือความอยุติธรรมทุกชนิด

ความเอื้ออาทรเป็นหนึ่งเดียวกัน

คำสอนของพระศาสนจักรที่มีความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือสารส่งเสริมความเอื้ออาทรในระดับสากล ซึ่งจะเป็นหลักประกันให้มนุษย์ทุกคนได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น ความเอื้ออาทรแบบคริสตชนคือการที่ตัวเราเองต้องรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ของผู้อื่น ต้องเป็นอะไรที่มากไปกว่าความรู้สึกหรือความสงสาร ต้องเป็นความรับผิดชอบแบบรูปธรรมที่แสดงออกด้วยกิจการ

ความเป็นเอกภาพของมนุษย์ปรากฏให้เห็นชัดเจน ตั้งแต่วินาทีแห่งการสร้างดังที่เราอาจอ่านได้จากหนังสือพระคัมภีร์ ฉบับปฐมกาลตอนที่พระเป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์ เราจึงต่างมีต้นกำเนิดเหมือนกัน จุดหมายปลายทางของเราก็ชัดอยู่แล้ว ในการเสด็จมารับเอากายเป็นมนุษย์ ซึ่งพระคริสตเจ้าเสด็จมาเป็นมนุษย์เพื่อที่จะไถ่กู้มนุษยชาติ

พร้อมกันกับคามเอื้ออาทรเป็นหนึ่งเดียวกัน พระศาสนจักรยังสอนถึงความสำคัญของการช่วยเหลือจุนเจือกัน อันนี้หมายความว่าพยายามไม่ให้มีการกระจุกอำนาจไว้ที่ส่วนกลางแต่เพียงแห่งเดียว แต่จะต้องปล่อยให้สังคมหน่วยย่อยต่างๆ เช่นครอบครัว ชุมชนท้องถิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์มีอำนาจพอเพียงที่จะปฏิบัติหน้าที่ของพวกเขาเองได้ด้วย

เพราะฉะนั้นโลกาภิวัฒน์จะต้องเป็นกระบวนการที่นำด้วยการให้ความเคารพต่อเสรีภาพมนุษย์ กระบวนการโลกาภิวัฒน์ที่นำโดยหลักการแห่งคริสตชน จะก่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันในครอบครัวแห่งมนุษยชาติ (บทความจาก ZENITH เว็บไซต์)

back

 

Free Web Hosting