เวบไซด์แห่งความรักเพื่อแบ่งปัน

สาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16
โอกาสรณรงค์ในเทศกาลมหาพรต
ประจำปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ.2551)

(หนังสือพิมพ์ข่าวสารคาทอลิกรายสัปดาห์ อุดมสาร)

โฆษณาตรงกลุ่มเป้าหมาย,thai-advertise.com,thaiads,ไทยแอดส์เวอร์ไทส์, โฆษณาฟรี, รายได้เสริม,งานพิเศษ,โฆษณาผ่านเว็บไซต์

พี่น้องที่รัก

          1. เทศกาลมหาพรตของทุกปีเป็นเวลาพิเศษที่พระเป็นเจ้าประทานให้ เพื่อเราจะได้ไตร่ตรองถึงความหมาย และคุณค่าชีวิตคริสตชนของเรา เป็นโอกาสที่จะกระตุ้นพวกเรา ให้พบกับพระเมตตาของพระองค์ เพื่อเราจะได้สามารถเป็นผู้ที่มีเมตตาเพิ่มขึ้นต่อบรรดาพี่น้องเพื่อนบ้านของเรา ในเทศกาลมหาพรตพระศาสนจักรถือเปํนหน้าที่ต้องเสนอให้มีกิจกรรมบางอย่าง ที่บรรดาสัตบุรุษพึงนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปพร้อม ๆ กับการฟื้นฟูชีวิตภายใน การฟื้นฟูชีวิตจิตดังกล่าวได้แก่ การสวดภาวนา การถือศีลอดอาหาร และการทำบุญให้ทาน สำหรับสาส์นเทศกาลมหาพรตปีนี้ เราอยากเชิญชวนพี่น้องให้รำพึงพิจารณาถึงการทำบุญให้ทาน ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติเป็นพิเศษ ในการช่วยผู้ที่กำลังเดือดร้อน และในขณะเดียวกันยังเป็นการปลดเปลื้องตนเอง ให้หลุดพ้นจากการติดใจอยู่กับวัตถุทรัพย์สินฝ่ายโลกด้วย แรงดึงดูดยึดติดทรัพย์สมบัติที่เป็นวัตถุต้องไม่ทำให้เรานับถือวัตถุดังกล่าวเป็นพระเจ้า เฉกเช่นที่พระเยซูเจ้าตรัสยืนยันไว้อยากหนักแน่นว่า "ท่านทั้งหลายจะปรนนิบัติรับใช้พระเจ้า และเงินทองพร้อมกันไม่ได้" (ลก 16:13) การทำบุญให้ทานช่วยเราให้เอาชนะการล่อลวงประเภทนี้ สอนเราให้ตอบสนองต่อความต้องการของเพื่อนบ้าน และแบ่งปันกับผู้อื่น สิ่งต่าง ๆ ที่เราได้มาอาศัยนำพระทัยดีของพระเป็นเจ้า นี่คือจุดประสงค์ของการเก็บถุงทานเพื่อคนยากจน ที่มีการรณรคงค์กันเป็นพิเศษในช่วงเทศกาลมหาพรตตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก การกระทำเช่นนี้ คือ การชำระจิตใจให้สะอาด ซึ่งต้องทำควบคู่กับการเป็นหนึ่งเดียวกันภายในพระศาสนจักร เป็นการสะท้อนให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในพระศาสนจักรยุคแรก ๆ นักบุญเปาโลได้กล่าวไว้ในจดหมายของท่านหลายฉบับเกี่ยวกับเรื่องนี้้ ในการรวบรวมเงินถุงทานสำหรับชุมชนซึ่งอยู่ที่นครเยรูซาเล็ม (เทียบ 2คร 8-9, รม 15:25-27)

          2. ตามคำสอนของพระวรสาร เรามิได้เป็นเจ้าของ แต่เป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สมบัติที่เรามี ดังนั้นเราจึงมิอาจอ้างได้ว่า เราเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติของเราแต่เพียงลำพัง ความหมายที่ถูกต้องคือ พระเป็นเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้เราเป็นผู้ดูแลพระสัพพัญญญาณของพระองค์ เพื่อประโยชน์แห่งเพื่อนบ้านของเรา ดังที่คำสอนของพระศาสนจักร เตือนใจเราว่า ทรัพย์สมบัติอันเป็นวัตถุของโลกจะมีค่าเชิงสังคม ก็ตามหลักการแห่งเป้าประสงค์สากลของมันเท่านั้น (ข้อ 2404)

          พระเยซูทรงเตือนไว้อย่างชัดเจนในพระวรสาร เกี่ยวกับคนที่ครอบครองทรัพย์สมบัติของโลก และนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น ท่ามกลางฝูงชนมากกมายที่ขัดสนทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องทนทุกข์กับความหิวโหย นักบุญยอห์นกล่าวตำหนิว่า "ถ้าผู้ใดมีทรัพย์สมบัติของโลกนี้ และเห็นพี่น้องของตนขาดแคลน แต่ยังมีใจแคบต่อเขา ความรักของพระเจ้าจะดำรงอยู่ในผู้นั้นได้อย่างไร" (1ยน 3:17) สำหรับประเทศต่าง ๆ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นคริสตชนการเรียกร้องให้มีการแบ่งปันทรัพย์สมบัติก็ยิ่งจะมีความเร่งด่วนเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะว่าความรับผิดชอบของพวกเขาต่อคนจำนวนมาก ที่ยากจนและถูกทอดทิ้งนั้น มีความสำคัญเป็นพิเศษมากกว่า การช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นเป็นหน้าที่ในมิติแห่งความยุติธรรม ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการทำบุญใหทานเสียด้วยซ้ำไป

          3. พระวรสารให้ความสำคัญกับการทำบุญให้ทานแบบคริสตชนในลักษณะพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือ ต้องไม่ให้ใครรู้ "อย่าให้มือซ้ายของท่านทราบว่ามือขวาของท่านกำลังทำสิ่งใด" พระเยซูเจ้าตรัส "เพื่อทานของท่านจะได้เป็นทานในที่ลี้ลับ" (มธ :3-4) ก่อนหน้านี้เลกน้อย พระองค์ทรงห้ามมิให้อวดความดีของตน เพื่อจะไม่ต้องเสี่ยงกับการสูญเสียรางวัลสวรรค์ (เทียบ มธ:1-2) ผู้ที่เป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าต้องห่วงใยอยู่กับพระสิริมงคลของพระเป็นเจ้าเท่านั้น พระเยซูเจ้าทรงเตือนว่า "ในทำนองเดียวกัน แสงสว่างของท่านต้องส่องแสงต่อหน้ามนุษย์ เพื่อคนทั้งหลายจะได้เห็นกิจการของท่าน และสรรเสริญพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์" (มธ 5-16) ดังนั้น เราต้องทำทุกอย่างเพื่อพระสิริมงคลของพระเป็นเจ้า มิใช่เพื่อชื่อเสียงสำหรับตัวเราเอง พี่น้องที่รัก ความเข้าใจเช่นนี้ต้องควบคู่ไปกับพฤติกรรมทุกอย่างของเราในการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ ต้องหลีกเลี่ยงมิให้ตัวเราเองกลายเป็นจุดเแห่งความสนใจ หากเราทำดีโดยมิได้ยึดเอาพระสิริมงคลชองพระเป็นเจ้า และประโยชน์ของบรรดาพี่น้องของเราเป็นที่ตั้ง จ้องแต่จะแสวงหาผลประโยชน์ฝ่ายตน หรือเพื่อให้คนอื่นชมเชย เราก็ไม่ได้ปฏิบัติตามจิตตารมณ์ของพระวรสาร ในสังคมโลกทุกวันนี้ที่ต้องการภาพพจน์ เราต้องระวังกันให้มาก เพราะแนวโน้มที่จะทำบุญเอาหน้ากันนั้นค่อนข้างจะมาแรงมาก การทำบุญให้ทานตามนัยแห่งพระวรสารนั้น มิใช่เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมถึงความรัก เป็นฤทธิกุศลที่เรียกร้องการกลับใจภายในให้รักพระเป็นเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ตามแบบอย่างของพระเยซูคริสตเจ้า ผู้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และมอบพระองค์โดยสิ้นเชิงให้กับเรา เราจะไม่โมทนาคุณพระเป็นเจ้าได้อย่างไร ที่คนเป็นจำนวนมากต่างพากันประกอบเมตตากิจต่างๆ ต่อเพื่อนบ้านที่เดือดร้อนภายใต้จิตตารมณ์นี้อย่างเงียบๆ โดยสื่อต่างๆ ไม่ทราบ หรือไม่ปรากฏต่อสายตาโลก จะมีประโยชน์อันใดในการมอบสิ่งของเลกน้อยแก่ผู้อื่น เพียงเพื่อทำให้หัวใจพองโตขึ้นด้วยความภูมิใจที่ไร้ค่า ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ทราบว่าพระเป็นเจ้า "ทรงเห็นในที่ลี้ลับ" และทรงตอบแทนอย่างเงียบๆ นั้นจะต้องไม่แสวงหาการรับรู้จากมนุษย์เมื่อประกอบกิจเมตตาธรรม

          4. ในการเชื่อเชิญเราให้ทำบุญให้ทานด้วยจิตสำนึกที่ล้ำลึก และอยู่เหนือมิติเชิงวัตถุล้วนๆ นั้น พระคัมภีร์สอนเราว่า มีความยินดีในการให้มากกว่าการรับ (เทียบ กจ 20:35) เมื่อเราทำสิ่งใดไปเพราะความรัก เราก็แสดงถึงความจริงแห่งการมีชีวิตของเราเอง อันที่จริง เราถูกสร้างขึ้นมามิใช่เพื่อตัวเราเอง แต่เพื่อพระเป็นเจ้าและเพื่อพี่น้องชายหญิงของเรา (เทียบ 2คร 5:15) ทุกครั้งที่เราแบ่งปันทรัพย์สมบัติของเรากับเพื่อนบ้านที่กำลังเดือดร้อน เพราะความรักต่อพระเป็นเจ้า เราจะพบว่าความบริบูรณ์ของชีวิตมาจากความรัก และทุกสิ่งทุกอย่างจะหวนกลับมาหาเรา กลายเป็นพระพรในรูปแบบของสันติ ความพอใจภายใน และความชื่นชมยินดี พระบิดาเจ้าสวรรค์ของเราจะทรงตอบแทนการทำบุญให้ทานของเราดวยความชื่นชมยินดีของพระองค์ ยิ่งไปกว่านั้น นักบุญเปโตรยังพูดถึงการได้รับการอภัยบาป นอกเหนือไปจากผลบุญแห่งการให้ทานอีกด้วย ท่านเขียนไว้ว่า "เมตตากิจลบล้างบาปได้มากมาย" (1ปต 4:8) พิธีกรรมช่วงเทศกาลมหาพรต กล่าวซ้ำบ่อยครั้งว่า พระเป็นเจ้าทรงเสนอให้ชาวเราผู้เป็นคนบาปทราบถึงความเป็นไปได้ที่เราจะได้รับการอภัย การแบ่งปันสิ่งที่เรามีกับคนยากไร้ทำให้เราสามารถรับพระพรดังกล่าว ณ วินาทีนี้ ความคิดของเราหวนนึกถึงบุคคลเหล่านั้น ที่ตระหนักถึงความบาปที่ตนได้กระทำ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงรู้สึกว่าตนเองอยู่ห่างไกลจากพระเป็นเจ้า เกิดความเกรงกลัวจนแทบไม่สามารถจะหันกลับไปคืนดีกับพระองค์ การได้ไปสนิทชิดเชื้อกับผู้อื่น โดยการให้ทานทำให้เราขยับใกล้เข้าไปหาพระเป็นเจ้า มันอาจกลายเป็นเครื่องมือสำหรับการกลับใจที่แท้จริง อีกทั้งเป็นการคืนดีกับพระเป็นเจ้า และกับเพื่อนบ้านของเรา

          5. การทำบุญให้ทานสอนเราให้ทราบถึงความมีน้ำใจแห่งรัก นักบุญโจเซฟเบเนดิกต์ ก๊อตโตเลงโก ให้คำแนะนำว่า "อย่าไปนับจำนวนเหรียญที่ท่านทำทาน เพราะนี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้ามักพูดเสมอ คือในการให้ทานนั้น มือซ้ายต้องไม่รู้ว่ามือขวากำลังทำอะไร มือขวาก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรด้วยซ้ำ" (Detti e pensieri, Editibri, n.201) สำหรับประเด็นนี้ เรื่องของพระวรสารที่เล่าไว้เกี่ยวกับหญิงหม้ายมีความสำคัญยิ่ง หญิงหม้ายดังกล่าวหยอดเหรียญลงไปในตู้ทานของวิหาร "นำทุกอย่างที่มีอยู่สำหรับเลี้ยงชีวิตมาทำทาน" (มก 12:44) เศษเหรียญเล็กๆ แทบไม่มีค่ากลายเป็นสัญลักษณ์ีที่มีค่ายิ่ง หญิงหม้ายผู้นั้นให้ทานไม่ใช่จากสิ่งที่เหลือเฟือ ไม่ใช่จากสิ่งที่ตนมี แต่จากสิ่งที่ตนเป็น นั่นคือ ชีวิตทั้งหมดของนาง

          เราพบข้อความที่กินใจนี้ในพระวรสารที่นำมาอ่านเพียงไม่กี่วันก่อนพระวรสาร ที่เล่าถึงพระทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า ซึ่งท่านนักบุญเปาโลกได้กล่าวว่าพระองค์ท่านทรงทำให้พระองค์เองยากจน เพื่อทำให้เราร่ำรวยด้วยความยากจนของพระองค์ (เทียบ 2คร 8:9) พระองค์ทรงมอบพระองค์เองทั้งครบแก่เรา เทศกาลมหาพรตต้องทำให้เราเอาแบบอย่างพระองค์ด้วยการทำบุญให้ทาน ในโรงเรียนของพระองค์ เราสามารถทำชีวิตของเราให้เป็นของขวัญที่สมบูรณ์ โดยอาศัยการเลียนแบบฉบับของพระองค์ เราสามารถเป็นคนใจกว้าง ไม่ใช่ด้วยการให้ทานเล็กน้อยจากสิ่งที่เรามี แต่ต้องเป็นการมอบตัวเองทั้งหมดให้แก่ผู้อื่น เราสามารถสรุปพระวรสารทั้งหมดไว้ได้ดวยบัญญัติแห่งรักแต่ประการเดียว นี่แหละการทำบุญให้ทานในช่วงเทศกาลมหาพรตจึงเปนเครื่องมือที่จะสร้างความเข้มข้นให้กับกระแสเรียกแห่งการเป็นคริสตชนของเรา ในการมอบตนเอแบบให้เปล่า คริสตชนจะเป็นประจักษ์พยานว่า ไม่ใช่ความร่ำรวยทางวัตถุ หากแต่เป็นความรัก ที่กำหนดกฎแห่งการมีชีวิตของเขา ดังนี้น ความรักจึงเป็นปัจจัยเพิ่มคุณค่าให้กับการทำทาน เป็นแรงบันดาลใจของการทำบุญให้ทานในรูปแบบต่างๆ ตามความสามารถและสภาพของแต่ละคน

          6. พี่น้องที่รัก เทศกาลมหาพรตเชิญเราให้ "ฝึกตน" ฝ่ายจิต โดยอาศัยการทำบุญให้ทาน เพื่อจะได้สามารถเจริญเติบโตขึ้นในความรัก และเห็นพระเยซูคริสตเจ้าในคนยากจน ในหนังสือกิจการของอัครสาวกเราพบว่า นักบุญเปโตรพูดกับคนง่อยที่นั่งขอทานอยู่ตรงประตูพระวิหารว่า "ข้าพเจ้าไม่มีเงิน ไม่มีทอง แต่ข้าพเจ้ามีอะไร ข้าพเจ้าก็จะให้ท่าน เดชะพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า ชาวนาซาเร็ธ จงเดินไปเถิด" (กจ 3:6) ในการให้ทานเรามอบบางสิ่งที่เป็นวัตถุ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งพระพรอันยิ่งใหญ่ ที่เราสามารถมอบให้แก่ผู้อื่นได้ โดยอาศัยการประกาศและการเป็นประจักษ์พยานถึงองค์พระคริสตเจ้า ผู้ซึ่งเราพบชีวิตที่แท้จริงในพระองค์ ดังนั้นในเทศกาลมหาพรตนี้ขอให้เราพยายามเป็นพิเศษ ทั้งในเชิงส่วนตัวและเชิงชุมชน ที่จะยึดมั่นกับพระคริสตเจ้า เพื่อเราจะได้เป็นประจักษ์พยานถึงความรักของพระองค์ ขอให้พระแม่มารีย์ข้ารับใช้ผู้สัตย์ซื่อของพระเป็นเจ้า ช่วยผู้มีความเชื่อใหเข้าสู่ "การต่อสู้ฝ่ายจิต" ของมหาพรต โดยมีการสวดภาวนา การถือศีลอดอาหาร และการทำทานเป็นอาุวุธ เพื่อเราจะได้ฉลองปัสกา โดยมีชีวิตจิตที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่ พร้อมกันนี้เราขออำนวยพรมายังพี่น้องทุกคน

จากสำนักวาติกัน 30 ตุลาคม 2007
เบเนดิกต์ ที่ 16

@2007 www.kularptip.com
Email:kularptip85@hotmail.com

Free Web Hosting